เมื่อวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสได้รับเชิญไปร่วมชมภาพยนตร์เรื่อง "Black Book" ของพอล เวอร์โฮเวน ที่สถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย บริเวณถนนวิทยุ ซึ่งทำให้ตนเองได้เปิดหูเปิดตาในหลายต่อหลายเรื่อง จนไม่อยากพลาดที่จะนำเอาเรื่องราวเหล่านั้นมาเล่าสู่กันฟัง
ณ ห้องรับรองในบ้านพักของท่านเอกอัครราชทูต ผู้เขียนมีโอกาสได้สนทนากับนักการทูตระดับสูงท่านหนึ่งของสถานทูตเน เธอร์แลนด์ เมื่อแนะนำตัวไปว่าตนเองทำงานอยู่กับหนังสือพิมพ์ภาษาไทย นอกจากนักการทูตท่านนี้จะสอบถามถึงปัญหาหลักที่สื่อสิ่งพิมพ์ทั่วโลกต้อง เผชิญหน้าร่วมกัน อันได้แก่การเติบโตอย่างต่อเนื่องของสื่อออนไลน์แล้ว คำถามสำคัญอีกประการหนึ่งที่นักการทูตดัทช์ถามผู้เขียนก็คือ "ในสถานการณ์ทางการเมืองตอนนี้ คุณอยู่ข้างเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดง?"
ผู้เขียนตอบไปสั้น ๆ แต่เพียงว่า ตนเองอยู่ข้างระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของประชาชน
เนื่องจากภาพยนตร์ที่สถานทูตนำมาจัดฉาย เป็นหนังซึ่งบอกเล่าเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กองทัพนาซีเยอรมันบุกเข้ายึดครองเนเธอร์แลนด์ นักการทูตท่านนี้จึงสอบถามผู้เขียนว่า เท่าที่เขาทราบมีภาพยนตร์ ไทยที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ช่วงสงครามโลกครั้ง ที่ 2 ไม่มากนัก ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
ผู้เขียนตอบคำถามดังกล่าวได้ไม่ค่อยดีนักว่า คงเป็นเพราะ ประวัติศาสตร์ไทยช่วงดังกล่าวมีความกำกวมขัดแย้งไม่ชัดเจนนัก เช่นการที่รัฐบาลไทยในยุคนั้นประกาศตนเป็นฝ่ายอักษะ แต่พอช่วงหลังสงคราม ประเทศไทยก็สามารถเปลี่ยนมาอยู่ข้างสัมพันธมิตรได้อย่างทันท่วงที
นอกจากนั้น ผู้เขียนยังพูดจาออกนอกประเด็นไปอีกว่า ในกรณีสถานภาพของนายกรัฐมนตรีช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็มีความคลุมเครือเช่นกัน เพราะแม้ประวัติศาสตร์นิพนธ์สายหนึ่งจะมองจอมพล ป. เป็นผู้ร้าย แต่ประวัติศาสตร์นิพนธ์อีกสาย (โดยเฉพาะงานเขียนที่ถูกผลิตขึ้นในช่วงหลัง ๆ) ก็พยายามคืนความชอบธรรมให้แก่อดีตผู้นำคนนี้มากขึ้น เช่น การพิจารณาว่าเขาเป็นผู้นำที่เคารพในหลักการประชาธิปไตยแบบรัฐสภา เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้เขียนมาคิดทบทวนในภายหลัง กลับพบว่าแท้จริงแล้วก็มีภาพยนตร์ไทยร่วมสมัยหลายเรื่องที่มีฉากหลังเป็น เหตุการณ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพียงแต่หนังเหล่านั้นไม่ได้พูดถึงเรื่องสงครามเป็นประเด็นหลัก เช่น "สตางค์" ของบัณฑิต ฤทธิ์ถกล ผู้ล่วงลับ หรือ "โหมโรง" ของอิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์ นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายเรื่องที่นำเสนอประเด็นสงครามโดยตรง เช่น "ยุวชนทหาร เปิดเทอมไปรบ" ของยุทธนา มุกดาสนิท "ไทยถีบ" ของพิสุทธิ์ แพร่แสงเอี่ยม รวมทั้งนิยาย/ละครโทรทัศน์/ภาพยนตร์สุดคลาสสิกอย่าง "คู่กรรม" บทประพันธ์ของทมยันตี ที่ จะว่าไปแล้วอารมณ์ทั้งรักทั้งเกลียดทหารญี่ปุ่นนาม "โกโบริ" ของสาวไทยชื่อ "อังศุมาลิน" ก็สะท้อนให้เห็นถึงท่าทีอันกำกวมของสังคมไทยในเรื่องสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ดีอยู่มิใช่น้อย
ผู้เขียนยังได้พูดคุยเกี่ยวกับข่าวคราวการเพิ่งเสียชีวิตในวัยครบ 1 ศตวรรษของ "มีพ คีส์" สตรีชาวออสเตรียที่ไปใช้ชีวิตในเนเธอร์แลนด์ ผู้เคยให้ความช่วยเหลือและเก็บรักษาบันทึกประจำวันของ "แอนน์ แฟรงก์" เด็กหญิงเชื้อสายยิวในช่วงที่นาซียึดครองเนเธอร์แลนด์ ซึ่งต่อมาบันทึกของเด็กหญิงคนนี้ได้กลายเป็นหนังสือว่าด้วยประเด็นการฆ่า ล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก
นักการทูตท่านนี้ได้ยกย่องว่าคีส์ถือเป็นสตรีผู้มีความกล้า หาญอย่างมากในบริบทเช่นนั้น ทั้งนี้ ก่อนการฉายหนัง นาย "ชัคโค ฟาน เดน เฮาท์" ท่านเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทยก็ได้กล่าวอุทิศการฉายหนังที่ ข้องเกี่ยวกับประเด็นนาซีบุกยึดครองเนเธอร์แลนด์เรื่องนี้ให้แก่มีพ คีส์ ผู้เพิ่งวายชนม์เช่นกัน
ในการฉายหนังที่สวนกลางแจ้งหน้าบ้านพักของท่านเอกอัครราชทูต ผู้เขียนมีโอกาสได้นั่งข้างชายชาวดัทช์ ซึ่งมาทำงานเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรนานาชาติ ของมหาวิทยาลัยรัฐแห่งหนึ่ง
อาจารย์ท่านนั้นเริ่มต้นทักทายผู้เขียนโดยการเกริ่นถึงความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างเนเธอร์แลนด์-ไทย และ เมื่อหนังที่เรากำลังจะได้ชมมีความข้องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สงครามโลก ครั้งที่ 2 นักวิชาการชาวดัทช์ผู้นี้จึงให้ความรู้เพิ่มเติมแก่ผู้เขียนว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว ชาวเนเธอร์แลนด์จำนวนมากได้ถูกกองทัพญี่ปุ่นเกณฑ์มาสร้างทางรถไฟไปพม่า กระทั่งหลายคนต้องเสียชีวิตลงตรงสะพานข้ามแม่น้ำแคว จังหวัดกาญจนบุรี
เนื่องจากขณะนั้น เนเธอร์แลนด์เป็นเจ้าอาณานิคมของอินโดนีเซีย เมื่อญี่ปุ่นบุกยึดครองอินโดนีเซียได้สำเร็จ ชาวดัทช์ที่อินโดนีเซียจึงถูกจับและเกณฑ์ตัวมาเป็นแรงงานสร้างทางรถไฟดัง กล่าว
นี่เป็นความรู้ใหม่ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ผู้เขียนมีความเข้าใจแต่เพียงว่าเชลยฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งต้องมาเสียชีวิตที่กาญจนบุรีนั้นเป็นเพียง "ฝรั่งตะวันตก" ผู้พร่าเลือนมาเนิ่นนาน
เมื่อคุยกันถึงชื่อประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งคำว่าเนเธอร์มีรากศัพท์มาจากคำว่า "เนเดอร์" ที่แปลว่า "ต่ำ" อันบ่งชี้ถึงการที่ประเทศแห่งนี้มีพื้นที่จำนวนมากเป็นแผ่นดินที่อยู่ต่ำ กว่าระดับน้ำทะเล จนต้องพยายามจัดการน้ำผ่านการสร้างเขื่อน ทางระบายน้ำ และสถานีสูบน้ำจำนวนมหาศาล เพื่อป้องกันอุทกภัย กระทั่งเนเธอร์แลนด์ขึ้นชื่อลือชาอย่างมากในการมีองค์ความรู้ด้านวิศวกรรม การจัดการน้ำนั้น
อาจารย์ท่านนี้ก็คุยให้ฟังว่า ขณะนี้เพื่อนของเขาซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำจากเนเธอร์แลนด์ ได้เดินทางมาบรรยายเรื่องดังกล่าวให้แก่มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งของไทย อันเนื่องมาจากความวิตกกังวลกับวิกฤตในเรื่องระดับน้ำที่อาจจะสูงขึ้นจนท่วม บ้านเมืองหลายส่วนในอนาคต
นักวิชาการชาวดัทช์ตั้งข้อสังเกตอย่างน่าสนใจว่า บางทีความ หมายของคำว่า "น้ำ" ในสังคม "ตะวันตก" อย่างเนเธอร์แลนด์ และสังคม "ตะวันออก" อย่างไทย อาจผิดแผกแตกต่างกัน เพราะในขณะที่ "น้ำ" ของทาง "ตะวันออก" มีความหมายที่บ่งชี้ถึงความศักดิ์สิทธิ์หรือการชำระล้างให้บริสุทธิ์ แต่สำหรับ "ตะวันตก" แล้ว "น้ำ" คือศัตรูอันร้ายแรงน่าหวาดกลัวที่มนุษย์จำเป็นต้องต่อสู้ต่อกรด้วย
อย่างไรก็ตาม ในบางครั้ง วิธีการต่อสู้กับน้ำที่มุ่งเน้นไปยังการต้านทานหรือเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ ก็ต้องหันกลับมาสู่วิถีทางแห่งธรรมชาติเช่นกัน ดังในกรณีของแม่น้ำสายหนึ่งในเนเธอร์แลนด์ที่มีลักษณะคดเคี้ยวเป็นอย่างยิ่ง ทว่าเมื่อเกิดวิทยาการจัดการน้ำสมัยใหม่ ก็มีการขุดคลองเพิ่มเติม เพื่อให้แม่น้ำสายดังกล่าวเดินทางเป็นเส้นตรงไม่คดเคี้ยวเช่นแต่ก่อน ด้วยความมุ่งหวังว่าน้ำจะไหลได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
แต่ในระยะยาวพื้นที่ปลายทางของแม่น้ำสายนั้นกลับประสบปัญหาอย่างหนัก เนื่องจากน้ำเดินทางมาเร็วและแรงเกินไป จนไม่สามารถจัดการกักเก็บและระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ สุดท้าย จึงต้องมีการขุดคลองครั้งใหม่ให้น้ำในแม่น้ำสายนี้เดินทางแบบคดเคี้ยวเช่น เดิมอีกครั้งหนึ่ง เพื่อชะลอความแรงและเร็วของน้ำตามวิถีทางธรรมชาติดั้งเดิมของมัน (แม้จะเป็นธรรมชาติที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ก็ตาม)
ก่อนหนังจะฉายไม่นานนัก อาจารย์ชาวเนเธอร์แลนด์เห็นสตรีท่านหนึ่งเดินทางมาร่วมงานฉายภาพยนตร์ครั้ง นี้ด้วย เขาถามผู้เขียนว่ารู้จักสตรีคนดังกล่าวหรือไม่ พร้อมกับเอ่ยนามของเธอออกมาเป็นภาษาไทยสำเนียงดัทช์ซึ่งผู้เขียนฟังไม่ออก เมื่อผู้เขียนส่ายหน้าเป็นคำตอบ เขาก็แสดงความเห็นว่าเป็นไปได้อย่างไร เพราะขนาดตนเองเป็นชาวต่างชาติก็ยังรู้จักสตรีคนนี้เลย เพราะบิดาของเธอเคยเป็นองคมนตรีที่ทำงานประพันธ์เพลงพระราชนิพนธ์ร่วมกับพระ บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อผู้เขียนหันไปมองสตรีท่านนั้นจึงได้รู้ว่าเธอคือ "หม่อมราชวงศ์มาลินี จักรพันธุ์" หรือ "คุณหญิงหมัด" นั่นเอง
นี่แสดงให้เห็นว่า ชาวเนเธอร์แลนด์คนนี้รู้จัก "สังคมไทย" ในบางแง่มุมได้ดีระดับหนึ่งเลยทีเดียว
แล้วก็เข้าสู่ช่วงเวลาของการฉายภาพยนตร์
ผู้เขียนรู้สึกว่าชะตาชีวิตของตัวละครสตรีใน Black Book มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะขณะที่ตัวละครนำของเรื่องเป็นผู้หญิงเชื้อสายยิวที่เป็นทั้งเหยื่อของ นาซีในช่วงสงคราม (ในทางกลับกัน เธอก็ตกหลุมรักกับทหารฝ่ายนาซีที่ไม่ใช่คนเลวร้าย แต่สุดท้ายเขากลับต้องตายจากนางเอกไป) และเป็นเหยื่อของกลุ่มต่อต้านนาซี (หรือแสร้งทำเป็นต่อต้านแต่แท้จริงแล้วมีผลประโยชน์บางด้านร่วมกันกับพวกนา ซี) ในช่วงหลังสงคราม ตัวละครผู้หญิงอีกคนหนึ่งกลับพบพานแต่ชีวิตที่ดี เพราะเมื่อครั้งนาซีเรืองอำนาจ เธอก็มีคนรักเป็นนายทหารเยอรมัน ครั้นพอนาซีแพ้ เธอก็ได้คนรักใหม่เป็นนายทหารแคนาดาจากฝ่ายสัมพันธมิตร
ชะตากรรมของตัวละครเหล่านี้อาจเป็นภาพตัวแทนของสามัญชนใน ประวัติศาสตร์ที่มิได้ดำรงตนหรือประสบพบเจอกับสิ่งที่เป็นขาว-ดำแน่นิ่งตาย ตัว หากชีวิตของพวกเขาและเธอล้วนแล้วแต่ลื่นไหลพลิกผันไปตามสถานการณ์อยู่ตลอด เวลา
หลังหนังฉายจบ ผู้เขียนเดินทางกลับบ้านพร้อมด้วยประสบการณ์ดี ๆ และไปรษณียบัตรจำนวนหนึ่งที่ทางสถานทูตเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์พิมพ์แจก ผู้มาร่วมงาน
ด้านหน้าของไปรษณียบัตรดังกล่าวเป็นรูปบ้านพักของท่านเอกอัครราชทูต เนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย บ้านพักหลังเก่าแก่ที่ท่านทูตกล่าวว่ามีสถานะเป็น "มรดกทางวัฒนธรรมของกรุงเทพมหานคร"
ด้านหลังไปรษณียบัตรมีข้อความสั้น ๆ แสดงถึงที่มาอันน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งของบ้านพักหลังนี้ กล่าวคือ พระ บาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานบ้านและที่ดินแห่งนี้ให้แก่ พระองค์เจ้าบวรเดชเมื่อปี พ.ศ.2473 ต่อมาพระองค์เจ้าบวรเดชได้ขายบ้านและที่ดินดังกล่าวให้แก่รัฐบาลเนเธอร์ แลนด์เมื่อปี พ.ศ.2492
ใช่แล้ว ผู้เขียนเพิ่งได้ไปดูหนังที่บ้านหลังเก่าของพระองค์เจ้าบวรเดช
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น